ไข้หวัดใหญ่ โรคใกล้ตัวที่ป้องกันได้

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza สามารถติดต่อจากการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เป็นต้น โดยมักจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) ของทุกปี ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป
 
อาการไข้หวัดใหญ่
      ส่วนมากจะมีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เมื่อยตัว อ่อนเพลีย อาจมีท้องเสียร่วมด้วย อาการจะรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป บางรายมีอาการของปอดอักเสบ โดยมีอาการหายใจเหนื่อย หายใจผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอกได้ อาจรุนแรงไปจนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มักมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและโรคอ้วน
 
การดูแลรักษาไข้หวัดใหญ่
      รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ลดน้ำมูก พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เช่น  ปอดอักเสบ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้มีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาการให้ยาต้านไวรัส (Antiviral drug) ร่วมด้วย



การป้องกันไข้หวัดใหญ่
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ  ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น  เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 
- ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด  หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ อาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
- ดื่มน้ำสะอาด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
   1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
   2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
   3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
   4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
   5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
   6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
   7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

อ้างอิง :
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1430
https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2/dvp/files/3.1%20เอกสารแนะนำความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องก.pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้